เบลา บาร์ต็อก เกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2424 (ค.ศ. 1881) ที่เมือง นากีซเซนต์มิคลอส ฮังการี (ในปัจจุบันคือเมือง ซานนิโคเลา มาเร ประเทศโรมาเนีย) เสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ที่นครนิวยอร์ก) เป็นทั้งคีตกวี นักเปียโน และนักสะสมดนตรีพื้นบ้านในแถบยุโรปตะวันออก เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้จัดตั้งสาขาวิชาดนตรีพื้นเมืองศึกษา (ethnomusicology)
มารดาของบาร์ต็อกได้สอนดนตรีให้แก่เขาตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งเขาได้เปิดตัวในฐานะนักเปียโนตั้งแต่อายุเพียงสิบปี ที่สถาบันดนตรีหลวงแห่งบูดาเปสต์ เขาได้พบกับ โซลทาน โคดาลี และต่อมา ทั้งคู่ร่วมกันรวบรวมและสะสมดนตรีพื้นบ้านในท้องถิ่น ก่อนหน้านั้นดนตรีพื้นบ้านฮังการีในทัศนะของบาร์ต็อกมีพื้นฐานมาจากทำนองเพลงของพวกยิปซี ที่คีตกวีเอก ฟร้านซ์ ลิซท์ นำมาเรียบเรียงใหม่ และในปี พ.ศ. 2446 (ค.ศ. 1903) เขาได้ประพันธ์ผลงานชิ้นสำคัญสำหรับวงดุริยางค์ ที่มีชื่อว่า Kossuth ในขณะที่พำนักอยู่ที่เมืองแมนเชสเตอร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ถึงปี พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1934) เขาได้เรียนเปียโน ที่วิทยาลัยดนตรีหลวงแห่งบูดาเปสต์ ในปี พ.ศ. 2450 เขาได้ประพันธ์บทเพลงพื้นบ้านฮังการี 3 เพลง และในปี พ.ศ. 2451 (ค.ศ. 1908) เขาได้ประพันธ์บทเพลงสำหรับวงควอเต็ตบทแรก
ในปี พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) เขาได้นำเสนอผลงานประพันธ์อุปรากรเรื่องเดียวของเขา นั่นก็คือ ปราสาทของนายหนวดน้ำเงิน รัฐบาลฮังการีได้ขอให้เขายกเลิกการใช้นามแฝง B?la Bal?zs ในการประพันธ์อุปรากร
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาได้แต่งเพลงประกอบบัลเล่ต์เรื่อง เจ้าชายแห่งไพรสนฑ์ และ แมนดารินวิเศษ ตามด้วยโซนาต้าอีกสองบทสำหรับบรรเลงด้วยเปียโนและไวโอลิน ที่ได้กลายเป็นหนึ่งในผลงานที่มีความสลับซับซ้อนที่สุดของเขา
เขาได้ประพันธ์สตริงควอเต็ต หมายเลข 3 สตริงควอเต็ต หมายเลข 4 ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบทเพลงควอเต็ตที่ดีที่สุดเท่าที่มีการแต่งมา ในปี พ.ศ. 2470 - 2471 ซึ่งทำให้ภาษาทางการประสานเสียงของเขาเรียบง่ายลงเป็นต้นมา สตริงควอเต็ต หมายเลข 5 (พ.ศ. 2477) กลับมีรูปแบบที่ยึดกับขนบประเพณีเดิมมากขึ้น จากนั้นบาร์ต็อกได้ประพันธ์ สตริงควอเต็ต หมายเลข 6 อันเป็นควอเต็ตบทสุดท้ายที่เศร้าสร้อย ในปีพ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939) ที่จบลงด้วยการสูญเสียมารดาสุดที่รักของเขา
บทเพลงเหล่านี้เป็นชุดสุดท้ายที่เขาประพันธ์ขึ้นในยุโรป ในปี พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940) ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง เขาได้เดินทางอย่างหมดอาลัยตายอยากไปยังสหรัฐอเมริกา เขารู้สึกไม่ค่อยดี จึงเป็นช่วงที่ไม่ได้ประพันธ์เพลง
ต่อมาแซร์จ คูสเซอวิทสกี ได้ว่าจ้างให้เขาแต่งเพลงคอนแชร์โต้สำหรับวงดุริยางค์ ซึ่งดูเหมือนว่าจะทำให้ความกระตือรือร้นในการแต่งเพลงของบาร์ต็อกหวนกลับมา เขาเริ่มประพันธ์ คอนแชร์โต้สำหรับเปียโน หมายเลข 3 ซึ่งเป็นบทเพลงที่เรียบง่ายและออกแนวนีโอคลาสสิก และเขาก็ได้เริ่มแต่งคอนแชร์โต้สำหรับวิโอล่าตามมาอีก
บาร์ต็อกเสียชีวิตด้วยโรคลูคีเมีย ผู้ที่ประพันธ์คอนแชร์โต้สำหรับวิโอล่าต่อจนจบคือลูกศิษย์ของเขา ทิบอร์ เซอร์ลี